

วันที่ 29 มกราคม 2007 ได้รับการประกาศให้เป็นวันมิลตัน ฟรายด์แมน (Milton Friedman Day) เพื่อรำลึกถึงชีวิตและผลงานของมิลตัน ฟรายด์แมน (Milton Friedman) ซึ่งถึงแก่กรรม เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว การตายของฟรายด์แมน นอกจากโลกจะทำให้สูญเสียนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี ค.ศ.1976 แล้ว สำหรับชิลี ยังถือได้ว่าเป็นการสูญเสียบิดาแห่งการปฎิรูปเศรษฐกิจของประเทศด้วย
มิลตัน ฟรายด์แมน เกิดที่บรู๊คลีน นิวยอร์ก สหรัฐฯ เมื่อปี 1912 ในครอบครัวของชาวยิวที่อพยพมาจากออสเตรีย-ฮังการี บิดาถึงแก่กรรมขณะที่เขายังเรียนอยู่ชั้นมัธยม ทำให้
เขาต้องขวนขวายช่วยเหลือตัวเองเพื่อการศึกษาต่อ เมื่อเป็นนักเรียนทุนของมหาวิทยาลัยรุทเกอร์ส์ (Rutgers University)ในนิวเจอร์ซี ฟรายด์แมนเป็นนักศึกษาที่เก่งในวิชาคณิตศึกษา แต่หลังจากได้พบกับ Arthur F.Burns ซึ่งเป็นทั้งอาจารย์และผู้สนับสนุนฟรายด์แมนทั้งในด้านการศึกษาค้นคว้า และการทำงาน Burns ก็ได้จุดประกายให้เขาเกิดความสนใจในเรื่องทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งส่งเสริมให้เขาเข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งที่นี่ฟรายด์แมนได้มีโอกาสพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิชาการรุ่นใหม่ รวมทั้ง Rose Director ซึ่งต่อมาเธอได้กลายเป็นเพื่อนคู่คิดทั้งเรื่องชีวิตและการงานตราบชั่วชีวิต
ฟรายด์แมนเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยอยู่หลายปี ก่อนย้ายมาทำงานที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ และสำนักนโยบายภาษี กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เพียงเพื่อค้นพบตัวเองว่าเขาเหมาะกับอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยมากกว่างานอย่างอื่น ฟรายด์แมนเป็นผู้วางรากฐานและพัฒนาหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชิคาโก และร่วมกับพี่ชายของ Rose ตั้ง Chicago School of Economics
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฟรายแมนด์เดินทางไปยุโรปในฐานะที่ปรึกษาโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรป ตามแผนการมาร์แชล (Marshall Plan) และได้รับมอบหมายให้ศึกษาเรื่องโครงร่างของตลาดร่วมยุโรป และการลอยตัวของอัตราแลกปลี่ยน ซึ่งฟรายแมนด์ได้ข้อสรุปว่าตลาดร่วมยุโรปสามารถจัดตั้งได้โดยไม่ต้องพึ่งอิงกับการลอยตัวของอัตราแลกเปลี่ยน
ช่วงยุค 1960 เขาเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของวุฒิสมาชิกแบรรี่ โกลด์วอเตอร์ และประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน รวมทั้งเขียนคอลัมน์ประจำในนิตยสารนิวส์วีค แต่ในปี 1977 ก็กลับไปสอนและทำงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยชิคาโกอีกครั้ง
ฟรายด์แมนเชื่อมั่นในทฤษฏีการค้าเสรี และเสนอความคิดของเขาผ่านการบรรยาย ข้อเขียน และการเดินทางไปประเทศต่าง ๆ - ฟรายแมนด์เดินทางมาชิลีครั้งแรกในปี 1975 ในสมัยของนายพลปิโนเชต์ เพื่อบรรยายเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ ตามคำเชิญของมูลนิธิเอกชน หลังจากนั้นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชิคาโกหลายคนได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลปิโนเชต์ รวมทั้งลูกศิษย์ลูกหาของฟรายแมนด์จากChicago School of Economics ก็ได้เข้าทำงานตามหน่วยงานต่าง ๆ ของชิลี และก้าวขึ้นไปกุมกลไกทางเศรษฐกิจของประเทศ จนเกิดคำเรียกขานนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ว่า ชิคาโกบอยส์ สำหรับฟรายแมนด์เอง แม้จะมีโอกาสพบกับประธานาธิบดีปิโนเชต์ แต่เขาก็ไม่ยอมรับเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจหรือให้คำแนะนำเป็นการส่วนตัวแก่ผู้นำชิลี ในการบรรยายครั้งหนึ่งที่
มหาวิทยาลัยแคธอลิก ในกรุงซันติอาโก ฟรายแมนด์กล่าวว่าจุดประสงค์สำคัญของการมาบรรยายครั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าการค้าเสรีจะทำลายการเมืองแบบรวมศูนย์ และการจำกัดเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน โดยมิได้วิพากษ์วิจารณ์ความเป็นผู้เผด็จการปิโนเชต์ หรือการจับกุมและทารุณกรรมนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลเผด็จการทหารโดยตรง แต่ในบทความชิ้นหนึ่ง เขาแสดงทัศนะส่วนตัวว่า ชิลีมิใช่ประเทศที่มีระบบเสรีภาพทางการเมือง แต่ที่ข้าพเจ้าไม่ได้ประนามในเรื่องนี้ เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนใน 2-3 ปี ที่ผ่านมาเริ่มดีขึ้น ไม่เลวร้ายเช่นในอดีต ซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ นี้จะนำประเทศไปสู่การหลุดพ้นจากอำนาจของรัฐบาลทหารและสามารถสถาปนาระบบประชาธิปที่สมบูรณ์ขึ้นได้
ปิโนเชต์ ให้การสนับสนุนชิคาโกบอยส์ อย่างเต็มที่ในการดำเนินแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่ฟรายแมนด์เรียกว่า shock program อันเหมือนกับการที่แพทย์ใช้ยาซึ่งออกฤทธิ์รุนแรงรักษาคนไข้ที่ป่วยหนักด้วยโรคร้ายและเรื้อรัง แบบถอนยวง - shock programประกอบด้วยมาตรการที่เข้มงวดและเฉียบขาดหลายอย่าง อาทิ การยุติการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเพื่อแก้ไขการขาดดุลงบประมาณ ลดรายจ่ายภาครัฐ ปลดพนักงานของรัฐหลายหมื่นคน ยกเลิกอัตราค่าแรงขั้นต่ำและการควบคุมราคาสินค้า แปรรูปอุตสาหกรรมของรัฐ ปรับปรุงระบบการเงิน เพื่อเปิดประเทศสู่ระบบการค้าเสรี ซึ่งมีผู้วิเคราะห์ว่าถ้าปิโนเชต์ไม่ได้เป็นประธานาธิบดีอยู่ในขณะนั้น ฟรายด์แมนและชิคาโกบอยส์ก็คงจะไม่สามารถปฎิรูปเศรษฐกิจชิลีได้สำเร็จ
ฟรายด์แมนและ ชิคาโกบอยส์ ได้สร้างชิลีให้เป็นประเทศที่มั่นคงและมีความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างน่าอัศจรรย์ ชิลีมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศต่าง ๆ ในลาตินอเมริกาถึง 3 เท่า เป็นแหล่งลงทุนที่นักลงทุนมีความมั่นใจสูงสุดในภูมิภาคนี้ ประชากรได้รับการบริการทางสังคม ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข สาธารณูปโภค และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับที่ดี แต่ที่น่ายินดีกว่านั้นก็คือการเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ สมดังที่ฟรายแมนด์คาดหมายและเคยกล่าวกับผู้ที่ตำหนิติเตียนเขาในการที่เข้าไปข้องแวะกับปิโนเชต์ ว่า ข้าพเจ้าอยากจะชี้แจงต่อสาธารณชนว่า ระบบการค้าเสรีต้องดำเนินควบคู่ไปกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผลของสิ่งนี้จะปรากฏให้เห็นได้ในระยะยาว
ในคำประกาศรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 1976 ได้ยกย่องมิลตัน ฟรายด์แมน ว่า สำหรับผลงานในด้านวิจัยด้านประวัติศาสตร์และทฤษฏีการเงิน และการนำทฤษฎีไปปฏิบัติให้ปรากฏผลเป็นรูปธรรม
มิลตัน ฟรายด์แมน เสียชีวิตที่สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2006 ขณะอายุได้ 94 ปี
ประภัสสร เสวิกุล ซันติอาโก ชิลี 9 กุมภาพันธ์ 2550

ต้องการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้
หรือมีคำถามต้องการสอบถามคุณประภัสสร เพิ่มเติม
ส่งอีเมล์มาได้ตามแบบฟอร์มติดต่อด้านล่างนี้เลยค่ะ หรือ อีเมล์มาที่ lantombythesea@gmail.com