

ผมรู้จักคุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ตั้งแต่สมัยที่ท่านยังทำงานอยู่ที่บริษัทโตโยต้า แต่ก็ไม่ได้เจอะเจอกันมานานพอสมควร มาพบกันอีกทีเมื่อ 2-3 วันก่อน เมื่อท่านในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางไปประชุม APEC ที่เปรู และแวะเยือนชิลีทั้งในช่วงขาไปและขากลับจากเปรู
คุณมิ่งขวัญยังคงเป็นคนที่เรียบง่ายไม่มากพิธีรีตองเหมือนเดิม เริ่มจากคณะของท่านซึ่งมีด้วยกันพียง 4 ชีวิต นอกจากตัวคุณมิ่งขวัญเองแล้ว ก็มีคุณชุติมา บุญประภัสร์ อธิบดีกรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์ ดร.นลินี ทวีสิน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และเลขานุการส่วนตัวอีกคนหนึ่ง ไม่มีเจ้าหน้าที่ระดับรอง นักข่าว หรือผู้ติดตามอย่างเอิกเกริกและผมสังเกตว่าคุณมิ่งขวัญยังคงคุณสมบัติของการเป็นนักวิเคราะห์ นักการตลาด และนักการขายมือฉกาจ อย่างครบถ้วน ซึ่งคุณสมบัติข้อแรก คุณมิ่งขวัญบอกว่าได้มาจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯส่วนสองข้อหลัง แม้คุณมิ่งขวัญจะไม่ได้บอก แต่ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นผลจากการทำงานด้านธุรกิจตั้งแต่อายุ 20 เศษ ๆ จนก้าวสู่ผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่
คุณมิ่งขวัญเล่าให้ฟังว่าสมัยที่อยู่โตโยต้า ท่านมีชุดสากลแบรนด์ดัง ๆ ของต่างประเทศ 50-60 ชุด แต่พอมา เป็นผู้อำนวยการ อสมท. ก็เก็บชุดสากลเหล่านั้นหมด และใช้ชีวิตเยี่ยงข้าราชการบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง สวมเสื้อเชิ้ต BB.ที่ไม่ได้ย่อมาจาก บาร์บารา บุช แต่เป็น โบ๊เบ๊ ตัวละ 200 บาท และชุดสากลชุดละ 2000 บาท
ที่สำคัญคือคุณมิ่งขวัญยังใช้สิ่งนี้เป็นจุดขายได้อย่างน่าสนใจ โดยเล่าเรื่องให้นักธุรกิจชิลีฟังว่าประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตผ้าโพลียีสเตอร์ที่สำคัญและมีราคาถูก เสื้อเชิ้ตในประเทศไทยสามารถผลิตได้ในราคาตั้งแต่ตัวละ 50-100 บาท แต่เสื้อในคุณภาพใกล้เคียงกันนี้หากบริษัทต่างประเทศมาจ้างผลิตและติด logoของบริษัท ก็อาจจะขายถึงตัวละเป็นพันบาท ซึ่งตอนนี้คุณมิ่งขวัญกำลังหาทางให้แบรนด์ดัง ๆ ของต่างประเทศมาผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในประเทศไทย
กับผู้นำเข้าสินค้าอาหาร คุณมิ่งขวัญก็กล่าวถึงความแตกต่างด้านภูมิอากาศของไทยกับชิลี ซึ่งทำให้ทั้งสองประเทศมีผลิตผลทางการเกษตรที่แตกต่างกันโดยเฉพาะพืชผักผลไม้ ซึ่งสามารถส่งเสริมการนำเข้าและส่งออกระหว่างกันได้ และไม่ลืมที่จะย้ำถึงการเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ของไทย ในขณะที่นานาประเทศกำลังกังวลกับวิกฤตการณ์อาหาร
ตามตัวเลขการค้า เมื่อปีที่แล้วชิลีนำเข้าจากไทย ในมูลค่า 374 ล้านดอลล่าร์ ขยายตัวขึ้น 37 เปอร์เซ็นต์ โดยสินค้าที่นำเข้าเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่รถพิ๊คอัพ คือประมาณ 31 เปอร์เซ็นต์ของตลาดรถพิ๊คอัพในชิลี โดยมีญี่ปุ่นไล่ตามมาติด ๆ คือ 30 เปอร์เซ็นต์ ถัดไปเป็นเกาหลีใต้ 14 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ไทยอาจสูญเสียตำแหน่งนี้ให้กับประเทศคู่แข่ง อย่างญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งมีความตกลงเรื่อง FTA กับชิลีเรียบร้อยแล้ว
สินค้าอีกชนิดหนึ่งของไทยที่มีโอกาสสดใสในชิลีได้แก่เม็ดพลาสติกที่ใช้ทำท่อส่งแร่ในกิจการเหมืองแร่ ซึ่งขณะนี้มีคู่แข่งที่สำคัญคือเกาหลีใต้เพียงประเทศเดียว โดยแต่ละปีชิลีมีความต้องการเม็ดพลาสติกประเภทนี้ ประมาณ 3000 ล้านบาท แต่นำเข้าจากไทยเพียง 600 ล้านบาทซึ่งปัญหาของเรื่องนี้อยู่ที่การไม่มีความตกลงเรื่อง FTA ระหว่างไทยกับชิลี ทำให้สินค้าจากไทยต้องเสียภาษีศุลกากร 6 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เกาหลีใต้ ซึ่งทำความตกลง FTA กับชิลีแล้ว ไม่ต้องเสียภาษีจึงมีความได้เปรียบในเรื่องราคา ทางผู้ผลิตคือบริษัทในเครือสยามซีเมนต์บอกกับผมว่าหากไทยมี FTA กับชิลี ก็เชื่อว่าจะสามารถมีส่วนแบ่งในตลาดสินค้าประเภทนี้ได้ถึงครึ่งหนึ่ง หรือ 1500 ล้านบาทต่อปี
ทางชิลีเองได้ให้ความสนใจต่อการค้ากับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกค่อนข้างมากเมื่อปีที่แล้ว ชีลีค้าขายกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียเป็นมูลค่า 38,074 ล้านดอลล่าร์ โดยส่งออก26,866 ล้านดอลล่าร์ และนำเข้า 11,280 ล้านดอลล่าร์ ปัจจุบัน ชิลีมีความตกลง FTA กับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และแสดงเจตน์จำนงที่จะมี FTA กับออสเตรเลีย มาเลเซีย เวียดนาม ตุรกี และไทย
ดูแล้วการค้าระหว่างไทยกับชิลีมีลู่ทางที่แจ่มใสและกว้างไกลอีกมาก - ข้อนี้ผมไม่ได้บอกคุณมิ่งขวัญหรอกครับ แต่เชื่อว่านักการตลาดอย่างท่านคงมองทะลุปรุโปร่งล่วงหน้าไปหลายช๊อตแล้ว
ลงพิมพ์ในนสพ.คม ชัด ลึก วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2551
ภาพจาก www.oknation.net
