คนไทยกำลังจะได้รับสิทธิใหม่เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งแล้วครับ นั่นคือสิทธิในการเลือกที่จะตาย (The Right to Die) ทั้งนี้เป็นไปตามร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ในมาตรา 12 ที่ว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยนั้นได้ / การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนารมณ์วรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง / เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง \สิทธิในการเลือกที่จะตายแตกต่างจากการสังหารด้วยความปราณี (Mercy killing, Euthanasia)เพราะในกรณีนั้นแพทย์จะเป็นผู้ลงความเห็นหากผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสจากบาดแผลหรือโรคภัยไข้เจ็บเกินกำลังที่จะรักษาพยาบาล
แม้อาจจะมองว่าการเลือกที่จะตายเป็นสิทธิส่วนบุคคลอย่างหนึ่ง แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนทั้งในทางโลกและทางธรรม ในทางโลกนั้นสิทธิดังกล่าวย่อมเกี่ยวข้องกับกฎหมาย สังคม จารีต และมโนธรรมอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ส่วนในทางธรรมนั้นไม่ว่าจะเชื่อว่าชะตากรรมของมนุษย์เป็นเรื่องของพระเจ้า หรือบาปบุญคุณโทษหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ไม่มีศาสนาไหนเห็นดีเห็นงามกับการที่มนุษย์จะฆ่าตัวเองหรือฆ่าผู้อื่น
หากย้อนไปมองถึงที่มาของแนวคิดเรื่องสิทธิในการเลือกที่จะตาย มูลเหตุสำคัญน่าจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ทั้งตัวผู้ป่วยเองหรือครอบครัว และของสถานพยาบาล ซึ่งในกรณีเช่นนี้ทั้งสองฝ่ายต้องสิ้นเปลืองเงินทอง เวลา บุคลากร และทรัพยากรเช่นหยูกยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่รัฐและแพทย์ก็ไม่ควรจะปฏิเสธสิทธิของคนป่วยในการได้รับการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกฎหมายเพื่อให้แพทย์ไม่ต้องรับผิดไว้ล่วงหน้า
แม้ว่าในปัจจุบัน ผู้ป่วยจะต้องแสดงความยินยอมรับการรักษาจากแพทย์ แต่การจะให้ผู้ป่วยต้องทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์ที่จะตายค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสและโหดร้ายเกินไป และในกรณีที่ผู้ป่วยไม่อยู่ในภาวะที่จะตัดสินใจเองได้ ใครจะเป็นผู้ตัดสินใจแทน? ทั้งหากมองโลกในแง่ร้าย ต่อไปสิทธิและความเสมอภาคของประชาชนในการรับการบริการสาธารณสุขก็อาจจะลดน้อยถอยลง เพราะอาจมีการเลือกที่จะยืดอายุคนที่มีเงิน แต่รวบรัดตัดทอนอายุของคนจน
สิทธิของการเลือกที่จะตาย เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในทุก ๆ ด้าน ทั้งในส่วนของผู้ป่วยซึ่งอาจจะมีความคิดและอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปได้ การวินิจฉัยของคณะแพทย์และการคำนึงถึงวิทยาการใหม่ ๆ ทางการแพทย์ที่อาจจะนำมารักษาผู้ป่วยได้ดีกว่าปัจจุบัน
เมื่อกล่าวถึงสิทธิของการเลือกที่จะตาย กรณีหนึ่งที่ถูกนำมาเป็นตัวอย่างทั้งผู้ที่เห็นด้วยและคัดค้านก็คือกรณีของสตรีอเมริกันคนหนึ่งซึ่งตกอยู่ในสภาพของผัก ต้องให้อาหารทางหน้าท้องมาเป็นเวลา 15 ปี เพราะสมองขาดเลือดและออกซิเจน จนสามีได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้แพทย์ยุติการให้อาหารทางหน้าท้อง โดยอ้างว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วยขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะ แต่บิดามารดาของผู้ป่วยได้ยื่นคัดค้าน ทำให้คดียืดเยื้อมานถึง 7-8 ปี และคดีพลิกไปพลิกมาหลายครั้ง ซึ่งในที่สุดรัฐสภาสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายเป็นกรณีฉุกเฉินให้บิดามารดาสามารถยื่นอุทธรณ์ได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ศาลพิจารณาเห็นว่าไม่มีหลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงว่าผู้ป่วยสามารถรับรู้ได้ จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ถอดสายอาหารผู้ป่วย
ครับ การรักษาพยาบาลหรือการบริการทางสาธารณสุขนอกจากจะเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนจะได้รับจากรัฐแล้ว ยังเป็นเรื่องของความหวังและกำลังใจอีกด้วย และก็เป็นเรื่องแปลกที่มีการนำเรื่องสิทธิของการเลือกที่จะตาย มาบรรจุไว้ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ