ตรุษจีนปีนี้ผมไปดูหนังจีนเรื่อง เส้าหลิน 2011 มาครับ ซึ่งก็ชวนให้นึกถึงบรรยากาศของตรุษจีนเมื่อหลายปีมาแล้วสมัยที่ชอว์ บราเธอร์ส หรือ โกลเด้น ฮาร์เวส ยังครองยุทธจักรหนังจีน และมีดาราประเภทเยี่ยมวรยุทธนับตั้งแต่ หวังหยู่ เยี่ยะหัว หลอลี่ เดวิด เจียง ตี้หลุง เฉินกวนไถ่ เอ๋อตงเซิน ฟู่เซิ่ง เรื่อยมาจนถึง เฉินหลง หงจินเป่า เจ็ต ลี ฯลฯ โลดแล่นอยู่บนจอเงิน ถ้าจะถามว่าเหตุใดหนังกำลังภายในฮ่องกงจึงสามารครองใจผู้ชมได้เป็นระยะเวลายาวนาน คำตอบที่ผมนึกได้ก็คือเนื้อเรื่องที่มีความตื่นเต้นสนุกสนานหรือสะเทือนใจ บวกกับเทคนิคการต่อสู้ที่ผาดโผน ดาราที่คนคุ้นเคย และเนื้อหาซึ่งเชิดชูคุณธรรม ความกล้าหาญ การเสียสละ มิตรภาพ ความรักที่สูงส่ง รวมทั้งความรักชาติบ้านเมือง ซึ่งแม้ในเวลานั้นฮ่องกงจะถูกปกครองโดยอังกฤษ แต่หนังของชอว์หลายเรื่องก็ยังกล่าวถึงการรุกรานจีนของอังกฤษและชาติตะวันตกอื่น ๆ อย่างไม่สะทกสะท้าน
ผมคิดว่าเนื้อหาในส่วนของความรักชาตินี่แหละครับ เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้หนังของชอว์มิใช่แค่ความบันเทิงราคาถูก แต่กลายเป็นคัมภีร์ที่ทำให้คนจีนทั่วโลกเกิดความรู้สึกผูกพันและสำนึกในความเป็นจีนของตน และเชิดชูวีรกรรมของวีรชนในอดีต
เส้าหลินก็เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง ด้วยความประทับใจของเหล่าสานุศิษย์ผู้กล้าและสะเทือนใจต่อเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่อารามอันเก่าแก่แห่งนี้ถูกศัตรูทำลายล้างจนราบเป็นหน้ากลอง ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง เส้าหลิน 2011 เอง ก็สารภาพว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากการชมภาพยนต์เรื่องเส้าหลิน ที่นำแสดงโดยเจ็ต ลี เมื่อหลายปีก่อน แม้ว่าผมจะรู้สึกว่าเส้าหลินฉบับใหม่นี้จะขาดอารมณ์และความประทับใจไปพอสมควรเมื่อเทียบกับฉบับเดิม ๆ แต่ก็ต้องยอมรับในเรื่องความอลังการงานสร้าง ที่เป็นจุดขายของหนังจีนแผ่นดินใหญ่ในปัจจุบัน
และเมื่อพูดถึงหนังจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว ก็อยากจะเล่าต่อไปว่า เวลานี้หนังจีนกำลังเฟื่องฟู เมื่อปีทีแล้วจีนสร้างหนังรวม 526 เรื่อง เพิ่มจากปี 2009 ถึง 70 เรื่อง ซึ่งทำรายได้รวมกัน ประมาณ 1.02 หมื่นล้านหยวน หรือราว ๆ 4.6 หมื่นล้านบาท เฉพาะเรื่อง Aftershock เรื่องเดียว ก็ทำรายได้เกือบ 3 พันล้านบาท แต่จีนก็ยังเห็นว่าหนังจีนยังไปได้ไม่ถึงไหน เพราะมูลค่าของหนังในตลาดโลกนั้นมากมายมหาศาล ลำพังแค่หนังฮอลลีวู้ดล้านเมื่อปีที่แล้วก็ทำรายได้ถึง 3.1 ล้านล้านบาท
สำนักงานส่งเสริมภาพยนตร์ของจีน ได้เรียกร้องให้ผู้สร้างภาพยนตร์จีนพัฒนาคุณภาพควบคู่ไปกับปริมาณ เพราะหนังหลายเรื่องยังวนเวียนอยู่กับสูตรสำเร็จ การเลียนแบบ และการนำเรื่องเก่ามาสร้างใหม่ ขาดความคิดสร้างสรรค์ คุณค่าต่อผู้ชม และการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลก
ถ้าจะพูดไปแล้วจีนมีความพร้อมในเรื่องภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับมือรางวัลอย่างจางอี้โหมว เฉินไค่เก๋อ หรือจอห์น วู มีทีมงานที่มีประสบการณ์ และดาราระดับสากล อย่างเฉินหลง โจวเหวินฟะ เจ็ตลี กงลี่ มิเชล โหยว หรือ จางซื่ออี้ เป็นต้น นอกเหนือไปจากเงินทุนที่ไม่อั้น วัฒนธรรม ภูมิประเทศ และสถานที่ อันงดงามหลากหลาย ที่สำคัญคือผู้ชมชาวจีนทั้งในประเทศจีนเองและที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ก็เป็นจำนวนเกินค่อนของประชากรโลกเข้าไปแล้วละครับ
และมาตรการหนึ่งของจีนในการส่งเสริมภาพยนตร์ของตนเองก็คือการจำกัดจำนวนภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดให้เข้าไปฉายในจีนได้เพียงปีละ 20 เรื่อง แต่เชื่อไหมครับว่าเมื่อปีที่แล้วหนังฮอลลีวู้ด เรื่องเดียวคือ อวตาร กลับทำรายได้ในเมืองจีน ถึง 6.2 พันล้านบาท
เรื่องหนังจีนที่เล่ามาทั้งหมดนี้ คงเป็นเรื่องที่เล่าให้ฟังกันเพลิน ๆ เพราะยังไงหนังไทยเราก็คงจะกระดึ๊บ ๆ กันอยู่แบบนี้ต่อไป โดยหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องไม่มีวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายที่จะพาหนังไทยไปถึงดวงดาวอย่างจริงจัง