อำนาจวรรณกรรมเป็นคำที่ได้ยินกันมานานแล้ว และฟังดูเป็นคำที่ศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งใหญ่ น่าเกรงขาม รวมทั้งเคยก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางการเมืองการปกครองขึ้นในหลาย ๆ ประทศในยุโรปในอดีต ขณะเดียวกันก็มีคำถามเกิดขึ้นในปัจจุบันว่าอำนาจวรรณกรรมนั้นยังคงความสำคัญอยู่หรือไม่? หรือแม้กระทั่งว่าอำนาจวรรณกรรมมีจริง ๆ หรือ?
ก่อนอื่น เราคงต้องมาดูว่าวรรณกรรมนั้นมีอำนาจในทางใดบ้าง ประการแรกที่เห็นได้ชัดเจนก็คือการรักษาและสืบสานขนบประเพณีและวัฒนธรรม เช่น สุภาษิตพระร่วง ทวาทศมาส มหาชาติคำหลวง เป็นต้น ประการที่สองก็เพื่อสำแดงเกียรติยศหรือวีรกรรม เช่น ลิลิตเตลงพ่าย ยวนพ่าย โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี ฯ ประการที่สามสะท้อนปัญหาสังคมรวมทั้งนำเสนอแนวคิดในเชิงปฏิรูป เช่น บทกวีของนายผี จิตร ภูมิศักดิ์ และบทประพันธ์ของ ศรีบูรพา ซึ่งวรรณกรรมดังกล่าว ล้วนมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของคนไทยโดยทั่วไป
สำหรับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าท่านเป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านวรรณกรรมเป็นอย่างยิ่งผลงานชองท่านไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี บทความ และปกิณกะ ล้วนแสดงถึงภูมิปัญญาอันล้ำลึก และกลวิธีการเขียนที่เลอเลิศ จนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ คนแรก แต่ที่สำคัญคือท่านได้ใช้อำนาจทางวรรณกรรมของท่านในการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และจรรโลงศิลปวัฒนธรรม และ สังคมไทย
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้ให้ความสนใจในการเขียนมาเป็นเวลานาน โดยเคยเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับก่อนที่จะมาก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐเป็นของตนเอง เมื่อ พ.ศ.2493 เพื่อต่อสูกับอำนาจมืดและปกป้องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เนื่องจากสภาพการณ์ของเมืองไทยในเวลานั้นอยู่ในภาวะสับสน แตกแยก และการใช้ความรุนแรง ทั้งจากการที่เพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สองมาไม่นาน การปฏิวัติรัฐประหารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการว่างเว้นจากการมีพระมหากษัตริย์ประทับเป็นมิ่งขวัญของบ้านเมืองมาเป็นเวลานานถึง 15 ปี ภายหลังจากที่รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชบัลลังก์ โดยรัชกาลที่ 8 เสด็จไปศึกษายังต่างประเทศเป็นระยะเวลา 11 ปี และรัชกาลที่ 9 เสด็จไปศึกษาต่อต่างประเทศ อีก 4 ปี ซึ่งทำให้คนรุ่นใหม่ห่างเหินจากสถาบันไปมาก ประกอบกับในทางการเมืองเองก็มีการดำเนินนโยบายชาตินิยมและเชิดชูบทบาทของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นในฐานะของท่านผู้นำประเทศ
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้ใช้ความสามารถทางวรรณกรรมฟื้นฟูความรู้สึกผูกพันของคนไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ของไทย อย่างแยบยล ผ่านนวนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน ใน พ.ศ.2493 (ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ พ.ศ.2494-2495) อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติสู่ประเทศไทย นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นภาพของสังคมไทยทั้งในรั้วในวังและชีวิตผู้คนสามัญ ตั้งแต่ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงสิ้นรัชกาลที่ 8 หรืองานวิเคราะห์จดหมายเหตุ วัน วลิต ชาวฮอลันดาที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในหนังสือ กฤษดาภินิหารอันบดบังมิได้ (พ.ศ.2519)ขณะเดียวกันก็ร้อยเรียงเรื่องราวอันหลากหลายของชาวบ้านธรรมดาไว้ในเรื่อง หลายชีวิต (พ.ศ.2497)
ในการต่อสู้กับอำนาจทางการเมืองนั้น ท่านได้นำวรรณกรรมซึ่งคนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีคือ สามก๊ก มาปรุงแต่งเป็น สามก๊ก ฉบับนายทุน ไว้ 2 ตอน คือตอน โจโฉ นายกตลอดกาล ซึ่งมีถ้อยคำเปรียบเปรยเสียดสีนักการเมืองไทย อย่างมีอารมณ์ขัน กับ เบ้งเฮ็ก ผู้ถูกกลืนทั้งเป็น ซึ่งแสดงข้อสันนิษฐานของท่านว่า เบ้งเฮ็กนั้น อาจจะเป็นคนไทยหรืออ้ายลาว นอกจากนี้ท่านยังคัดง้างนโยบายชาตินิยมที่ดูหมิ่นศิลปวัฒนธรรมไทย ด้วยการลงมือแสดงลิเก เพลงพื้นบ้าน และโขน ให้คนไทยได้ชื่นชม
หรือในยุคปลุกผีคอมมิวนิสต์ท่านได้นำนวนิยายเรื่อง โลกใบเล็กของดอน คามิโล (The Little World of Don Camillo) ของโจวานี กวาเรสกิ นักประพันธ์ชาวอิตาลี มาดัดแบลงเป็นเรื่องไทย ๆ ให้ตัวแทนของระบอบศักดินาอย่างสมภารกร่าง กับมาร์กซิสต์อย่างสหายแกว่น แก่นกำจร อยู่ร่วมกันที่หมู่บ้านไผ่แดง (พ.ศ.2497)
และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า งานเขียนของท่านใน หน้า 5 ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ไม่ว่าจะใช้ชื่อคอลัมน์ว่าอย่างไร ล้วนทรงอิทธิพลและมีบทบาทอย่างมากต่อการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม และด้านอื่น ๆ ซึ่งบางครั้งถ้อยคำเพียงประโยคเดียวหรือวลีเดียวของท่าน ก็สามารถส่งผลให้อะไรบางอย่างในบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปได้
ก็อย่าง กูไม่กลัวมึง นั่นแหละครับ