

มีเพื่อนผมคนหนึ่งบอกว่าเขาไม่ค่อยสนใจข่าวไทย-กัมพูชา เท่าไหร่นัก เพราะมีความรู้สึกว่าเหมือนกับเรื่องผัว ๆ เมีย ๆที่ตีกันด่ากันแล้วสักประเดี๋ยวก็กลับมาจู๋จี๋กันใหม่ และต่อให้ทะเลาะกันยังไงก็ไม่มีวันที่จะเลิกรากันไปได้ ผมฟังที่เพื่อนพูดแล้วก็อดที่จะคล้อยตามไปด้วยไม่ได้
จริงอยู่ว่าไทยกับกัมพูชานั้น มีเรื่องระหองระแหงกันเป็นประจำ ถ้าเป็นผัว-เมียอย่างที่เพื่อนผมว่า ก็คงจะมีการยกหม้อข้าวหม้อแกงทุ่มใส่กันบ้างเป็นครั้งคราว แต่เสร็จแล้วก็กอดกันยิ้มระรื่นเหมือนข้าวใหม่ปลามัน ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพราะว่าจริง ๆ แล้ว ทั้งไทยและกัมพูชาไม่อาจจะแยกขาดจากกันได้ ซึ่งไม่ใช่เพราะความรักแนบแน่นจนตัดใจไม่ขาด ไม่ใช่เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจ หรือการค้าขาย ไม่ใช่เพราะความเป็นสมาชิกอาเซียน และก็ไม่ใช่เพราะการมีรากเหง้าทางวัฒนธรรมเดียวกัน แต่เป็นเพราะการมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์ในด้านความมั่นคง
หากพลิกดูประวัติศาสตร์จะพบว่าหลังจากขอมสิ้นอำนาจลงแล้ว ดินแดนกัมพูชาไม่เคยที่จะสงบสุขอยู่ได้นาน ถ้าไม่มีปัญหาภายในจนต้องรบราฆ่าฟันกันเอง ก็มีปัญหากับภายนอกโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและไทย ซึ่งมีกัมพูชาเป็นเสมือนรัฐกันชน จนเกิดสงครามใหญ่ระหว่างไทยกับเวียดนาม เพื่อช่วงชิงการมีอำนาจเหนือกัมพูชาในสมัยรัชกาลที่ 3 สงครามครั้งนั้นกินเวลาถึง 15 ปี และจบลงด้วยการที่ทั้งสองฝ่ายต้องเจรจาหย่าศึกกัน และสิ่งที่ไทยได้จากสงครามครั้งนั้นคือดินแดนกัมพูชาบางส่วน เช่น เสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ กับคลองแสนแสบที่ขุดขึ้นเพื่อเป็นทางลัดในการส่งเสบียงอาหารไปเลี้ยงกองทัพไทย และหนังสืออานามสยามยุทธ บันทึกการศึกดังกล่าว ซึ่งผมเชื่อว่าคนไทยในทุกวันนี้คงไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเล่มนี้กันแล้ว
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยกับเวียดนามเหนือดินแดนกัมพูชาจบลงอย่างสิ้นเชิง เมื่อเวียดนามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และฝรั่งเศสเคลมว่ากัมพูชาเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนาม ดังนั้นกัมพูชาจึงถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนของฝรั่งเศสใน ค.ศ.1887 หลังจากนั้นฝรั่งเศสก็ใช้กำลังข่มขู่จนไทยต้องจำยอมเสียดินแดนเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ ฯ แก่ฝรั่งเศส ใน ค.ศ.1906 และถึงแม้ไทยจะได้เมืองทั้งสามคืนมาจากญี่ปุ่นในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา แต่ก็เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งเมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม ประเทศไทยก็ต้องคืนดินแดนเหล่านั้นแก่ฝรั่งเศสไป
ความวุ่นวายในกัมพูชายังคงดำเนินต่อไปหลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส และยืดเยื้อมาจนหลังสงครามเวียดนามกระทั่งมีการเจรจาระหว่างเขมรสามฝ่ายเพื่อยุติสงครามกลางเมืองและจัดการเลือกตั้งภายใต้การควบคุมของสหประชาชาติในค.ศ.1993 หากถามว่า เวลาที่ผ่านมาเกือบ 20 ปีนี้ เหตุการณ์ภายในกัมพูชาเรียบร้อยดีหรือยัง ก็คงจะได้คำตอบว่ายังหรอกครับเพราะเขมรแดงก็ยังคงมีอิทธิพลในบางพื้นที่ ขณะที่กลุ่มที่นิยมเจ้าสีหนุก็ดี กลุ่มที่ใฝ่หาประชาธิปไตย และกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน แต่ปัญหาที่สร้างความหนักใจอย่างมากแก่รัฐบาลพนมเปญ ก็คือการรุกคืบของเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเวียดนามที่เข้ามาตั้งรกรากหรือฝังตัวทำมาหากินในแผ่นดินกัมพูชาเป็นจำนวนมาก
ครับ คงไม่ใช่เรื่องน่าสบายอกสบายใจสักเท่าไหร่หรอกครับ ในการที่มีเพื่อนบ้านขนครอบครัวมากินอยู่หลับนอนในบ้านเรา และอีกหน่อยก็อาจจะเจ้ากี้เจ้าการจัดการเรื่องต่าง ๆ แทนเรา ต่อให้เพื่อนบ้านคนนั้นจะสนิทชิดเชื้อกับเรามากมายเพียงไรก็ตาม
และถ้าคิดตามหลักของความเป็นจริง สภาพของรัฐเล็ก ๆ ที่โดนขนาบข้างด้วยรัฐที่ใหญ่กว่าสองรัฐอย่างที่กัมพูชาเป็นอยู่ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ทำให้หายใจหายคอได้คล่องนัก และสิ่งที่กัมพูชาทำมาตลอดก็คือการถ่วงดุลอำนาจระหว่างไทยกับเวียดนาม ถึงขนาดที่ยอมถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองทั้งไทยและเวียดนาม ซึ่งหากคิดถึงความจริงข้อนี้แล้ว ก็คงจะมองเห็นว่าแม้กัมพูชาจะไม่ได้ชอบไทยเท่าไรนัก แต่กัมพูชาก็ไม่ได้ไว้วางใจเวียดนามเช่นเดียวกัน
เมื่อหลายปีก่อน ตอนที่ผมอยู่เวียงจันทน์ และเวียดนามเปิดเมืองวินน์ของตนให้ลาวขนถ่ายสินค้าทางทะเลเพิ่มขึ้นจากการใช้ท่าเรือคลองเตยของไทย นั้น เพื่อนชาวเวียดนามอุปมาให้ผมฟังว่า เหมือนให้นกน้อยกางปีกได้สองข้าง ซึ่งถึงตอนนี้เหตุใดเราถึงปล่อยให้นกอย่างกัมพูชาบินโดยปีกข้างเดียว หนำซ้ำยังเป็นปีกที่ผูกติดกับเวียดนาม ทำไมไทยถึงไม่ช่วยพยุงปีกอีกข้างของกัมพูชา แทนที่จะมัวหุบปีกข้างนี้ของกัมพูชาไว้ ?
บางที หากปล่อยให้กัมพูชากางปีกสองข้าง เขาอาจจะเล่นเกมดุลถ่วงแห่งอำนาจซึ่งมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้วได้ดีขึ้นและนั่นย่อมหมายถึงความมั่นคงทั้งของกัมพูชาและไทยด้วยเช่นกัน
.....................................