เหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นในกรุงลอนดอนและเมืองอื่น ๆ ในอังกฤษ นับเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงและสร้างความตระหนกไม่เฉพาะแต่ชาวอังกฤษ หากรวมถึงผู้คนในประเทศต่าง ๆ ด้วย ทั้งนี้ก็จากเหตุผลประการสำคัญที่มีความคิดความเชื่อกันว่า อังกฤษเป็นเมืองแห่งความสงบ ความมีระเบียบ ชาวอังกฤษเองก็เป็นสุภาพบุรุษ มีวินัย และเคารพกฎหมายบ้านเมือง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทำให้หลายคนต้องกลับมามองดูอังกฤษในแง่มุมใหม่ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงในปัจจุบัน
จริงอยู่ว่าอังกฤษอาจจะเคยรุ่งเรืองในยุคที่เป็นมหาจักรวรรดิประกอบด้วยอาณานิคมมากมายในทุกทวีป จนมีคำเรียกขานว่าเป็นดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตก แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมือคืนเอกราชให้กับดินแดนเหล่านั้นจนหมดสิ้นแล้ว อังกฤษก็เหลือเพียงเกาะเล็ก ๆ กับสภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดโทรม ทำให้ต้องคอยเดินตามหลังหรือเป็นลูกคู่ให้สหรัฐฯ ในสถานการณ์ระหว่างประเทศ เช่นในกรณีสงครามอ่าว สงครามอิรัก และอัฟกานิสถาน ฯ
ในส่วนของเหตุการณ์ไม่สงบนั้น สาเหตุสำคัญมาจากเรื่องเศรษฐกิจ อันเป็นผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินการคลังของสหรัฐฯ ที่เรียกกันว่าแฮมเบอร์เกอร์ไครซิส ซึ่งอังกฤษได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอังกฤษ ลดลงเหลือเพียง 0.5 เปอร์เซ็นต์ สืบเนื่องมาจากการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศลดลง รายรับของภาคเอกชนต่ำลง การขาดดุลงบประมาณ จนต้องมีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 17.5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินยูโรและดอลล่าร์ สภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปจึงอยู่ในขั้นเปราะบาง
ภาวการณ์เศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้รัฐต้องลดเงินช่วยเหลือโดยเฉพาะที่ให้แก่เขตชานเมืองลง ซึ่งก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา ที่เคยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐหรือท้องท้องถิ่น ทำให้คนในวัยหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งต้องพักการเรียนหรือลาออกกลางคัน ขณะเดียวกันปัญหาการว่างงานในขณะนี้ ก็ทำให้คนหนุ่มสาวเกิดความไม่แน่ใจในอนาคตตัวเองว่าถึงจะเรียนต่อไปเมื่อจบแล้วจะมีงานทำหรือไม่
สาเหตุสำคัญของปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือเขตท็อตแน่มอันเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นย่านที่อยู่อาศัยของชุมชนต่างชาติที่ยากจนและมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งมักมีความขัดแย้ง หรือทะเลาะวิวาทกันเองเป็นประจำ นอกจากนี้ก็ยังเป็นพื้นที่ที่มีคนว่างงานในอัตราที่สูง และเป็นถิ่นของกลุ่มวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งนำไปสู่การกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ ซึ่งได้รับการกล่าวหาว่ามีทัศนคติที่ไม่ดีต่อประชาชน ยึดถือระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัดปราศจากความอะลุ้มอะล่วย
โดยทั่วไปแล้ว คนอังกฤษค่อนข้างจะมีความรู้สึกต่อตำรวจของตนแตกต่างไปจากคนอเมริกันหรือชาติอื่น ทั้งนี้ เพราะคนอังกฤษรู้สึกว่าตำรวจอังกฤษเป็นมิตร เป็นสุภาพบุรุษ มีความเอื้อเฟื้อ อ่อนโยน ดังนั้น ตำรวจอังกฤษจึงได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชน ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในคราวนี้ จึงมีเสียงตำหนิผู้ก่อความวุ่นวายที่เป็นเยาวชนว่า ขาดความเคารพต่อพ่อแม่และตำรวจ ซึ่งออกจะฟังดูเป็นเรื่องที่แปลกหูสำหรับคนที่มิใช่ชาวอังกฤษ
กล่าวโดยสรุปแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอังกฤษเป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจโดยตรง รองลงไปคือปัญหาเรื่องความยากจน การขาดการศึกษา และไร้อนาคต ตามมาด้วยเรื่องความแปลกแยกแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมกับพฤติกรรมของวัยรุ่น
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในเหตุการณ์ครั้งนี้ก็คือ โซเชี่ยล เน็ตเวิร์ก ซึ่งกระจายภาพและความคิดเห็นต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว รวมทั้งมีบทบาทในการปลุกระดมและเร่งเร้าให้คนออกมาก่อความวุ่นวายเป็นจำนวนมาก
จากบทบาทพระเอกในการปฏิวัติดอกมะลิในอาฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง ถึงคราวที่โซเชี่ยล เน็ตเวิร์ก ต้องรับบทผู้ร้ายบ้างแล้ว ในเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในกรุงลอนดอน และอังกฤษ วันนี้
.....................................