ภาวะน้ำท่วม และน้ำท่วมขังในประเทศไทยที่ดำเนินติดต่อกันมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปีนี้ ได้สร้างความเสียหายแก่พื้นที่ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวมทั้งก่อให้เกิดความทุกข์ยากเดือดร้อนแสนสาหัสแก่พี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก ชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ขณะที่ความร่วมมือร่วมใจในการให้ความช่วยเหลือทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นไปอย่างค่อนข้างจะรวดเร็วและเป็นระบบขึ้น แต่ด้วยปริมาณของพื้นที่และประชากรที่ประสบปัญหา ก็ทำให้ความช่วยเหลือยังไปได้ไม่ทั่วถึง และไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมได้อย่างทันเหตุการณ์ ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอย่างมั่นคงในระยะยาว เพราะที่ตั้งของประเทศไทยนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากผลของดีเปรสชั่น หรือพายุโซนร้อนได้ และในบางปีก็ต้องเผชิญกับภาวะแห้งแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ซึ่งหากมีวิธีการที่จะสามารถกักเก็บน้ำในปีที่มีปริมาณที่เกินความต้องการเอาไว้ได้ก็น่าจะดีกว่าการปล่อยให้สูญไปเปล่า ๆ
ปัญหาน้ำท่วมในปีนี้และในปีที่ผ่าน ๆ มา ได้แสดงให้เห็นถึงวิธีการทำงานและวิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ว่าขาดการประสานงาน การประสานความร่วมมือ และการวางแผนล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องน้ำอยู่ถึง 5-6 หน่วยงาน ในสังกัดของ 3-4 กระทรวง และแทนที่จะเร่งรัดให้หน่วยงานดังกล่าวปรับปรุงการทำงานของตนให้ทำงานร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง ก็กลับกลายเป็นว่ามีการเรียกร้องให้ตั้งกระทรวงใหม่ขึ้นมาดูแลรับผิดชอบเรื่องน้ำโดยเฉพาะ ซึ่งนอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาแบบกำปั้นทุบดินแล้ว ยังจะเป็นการสร้างปัญหาในด้านการบริหาร ด้านบุคลการ ด้านงบประมาณ และด้านอื่น ๆ ดังจะเห็นตัวอย่างจากกระทรวงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลทักษิณ 1 ว่ามีลักษณะเหมือนเด็กที่คลอดก่อนกำหนด แคระแกรน ขาดความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและสมอง แม้เวลาจะผ่านมาเกือบ 10 ปีแล้วก็ตาม ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเมือง คงไม่สามารถใช้กระทรวงเกิดใหม่หรือเกิดก่อนกำหนด แก้ไปได้ทันการแน่ และแทนที่จะมีกระทรวงใหม่ให้เปลืองรัฐมนตรี เหตุใดจึงไม่หาวิธีการใช้หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาจจะเป็นในรูปของศูนย์บูรณาการเรื่องน้ำ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องน้ำทั้งหมด เพื่อกำหนดแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการให้หน่วยงานเหล่านั้นแบ่งกันไปทำตามที่ตนเองมีหน้าที่อยู่ ซึ่งวิธีเช่นว่านี้ ย่อมจะลงมือทำได้ทันที เห็นภาพรวมของปัญหาและแนวทางแก้ไข กำหนดงบประมาณ กำลังคน วัสดุอุปกรณ์ได้ชัดเจน ลดการทำงานซ้ำซ้อน รวมทั้งเป็นการระดมสมองและสรรพกำลังอย่างมีทิศทาง เพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยสุขแก่ประชาชนอย่างรวดเร็ว
หากมองวิกฤตให้เป็นโอกาส อุทกภัยที่รุนแรงอย่างมากในปีนี้ น่าจะทำให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหันมาพิจารณาปัญหาอย่างจริงจัง และบูรณาการการทำงาน แทนที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาแบบต่างคนต่างทำ หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านพ้นไปชั่วปีหนึ่ง ๆ รวมทั้งควรที่จะน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงพระราชทานไว้ ทั้งในเรื่อง การทำเขื่อนกันน้ำ การระบายน้ำ การทำแก้มลิงเพื่อเก็บน้ำ ขุดลอกคูคลอง การทำคลองลัดเพื่อให้น้ำไหลออกสู่ทะเล ไปปฏิบัติให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม
และการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม จะต้องใช้น้ำจิตน้ำใจ และน้ำอดน้ำทน ไม่ใช่แก้ด้วยน้ำลายนักการเมืองหรอกครับ
.....................................