พร้อม ๆ กับพัฒนาการทางการเมืองในประเทศพม่าและการส่งสัญญาณการเปิดประเทศ นักลงทุนจากต่างประเทศก็พากันแสวงหาลู่ทางการลงทุนค้าขายในดินแดนแห่งนั้น และเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันมากก็คือท่าเรือน้ำลึกที่เมืองทวายซึ่งจะเป็นประตูการค้าที่สำคัญ
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยกล่าวว่า อาณาจักรสุโขทัยมีอาณาเขตทางทิศตะวันตกจดอ่าวเบงกอลคือรวมถึงมะริด ทวาย ตะนาวศรี ส่วนจดมายเหตุราชทูตเปอร์เซียกล่าวว่า ตะนาวศรีเมืองอุดุสมบูรณ์ มีพลเมืองสยาม 5-6 พันครัว และมิชชั่นนารีที่เดินทางจากยุโรปเข้ามากรุงศรีอยุธยาก็บันทึกไว้ว่า มะริด และทวายขึ้นอยู่กับสยาม ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ให้ความสำคัญแก่เมืองมะริดเป็นอย่างมาก เพราะพ่อค้าจากอินเดียและยุโรปจะใช้มะริดเป็นท่าเทียบเรือเพื่อขนส่งสินค้า ด้วยผลประโยชน์ทางการค้า การเมือง และยุทธศาสตร์ ทำให้ไทยกับพม่าทำศึกเพื่อแย่งชิงมะริดไว้ในอำนาจ ใน พ.ศ.2302 ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอลองพญา ได้ขึ้นครองเมืองหงสาวดี และยกกองทัพมาตีเมืองทวาย เมื่อได้ทวายแล้วก็ตีเมืองมะริด และตะนาวศรีด้วย ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ฯ ใน พ.ศ.2330 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯ ให้ส่งกองทัพไปชิงเมืองตะนาวศรีคืนจากพม่าแต่ไม่สำเร็จ แต่ใน พ.ศ.2334 มะริด ทวาย และตะนาวศรี ก็มาขอขึ้นกับไทย
ใน พ.ศ.2366 ช่วงปลายรัชสมัยสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อังกฤษได้เข้ายึดหัวเมืองชายฝั่งทะเลของพม่า รวมทั้งมะริด ทะวาย และตะนาวศรี ซึ่งนับเป็นการเสียดินแดนครั้งที่สองของไทยในยุครัตนโกสินทร์ หลังจากเสียเกาะหมาก แก่อังกฤษ เป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.2329 ดังคำกลอนที่ว่า
“เสียครั้งแรกเกาะหมากจากแผนผัง เขาเปลี่ยนเป็นปีนังจำได้ไหม
นั่นแหละจากขวานทองเล่มของไทย หนึ่งร้อยกว่าตารางไมล์หลักฐานมี
ครั้งที่สองเสียซ้ำยังจำได้ เสียมะริด ทวาย ตะนาวศรี
ปีสองพันสามร้อยหกสิบหก โชคไม่ดี เสียเนื้อที่กว่าสองหมื่นตารางไมล์...”
และต่อมามีการปักปันเขตแดนบริเวณนั้นกันใน พ.ศ.2411 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยยึดแม่น้ำปากจั่นเป็นแนวเขต
เมื่อพม่าได้เอกราชจากอังกฤษ มะริด ทวาย ตะนาวศรี และมะละแหม่ง ได้รับการจัดตั้งเป็นเขตรัฐมอญ เรียกว่าเขตตะนาวศรี หรือตานี้นตายี โดยมีเมืองทวายเป็นเมืองเอก
ในปลายปี พ.ศ.2553 บริษัทอิตาเลียน-ไทย ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามกรอบความตกลงกับกระทรวงคมนาคมพม่า เพื่อดำเนินการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม และเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ซึ่งจะมีการสร้างไฮเวย์จากทวายถึงจังหวัดกาญจนบุรี ระยะทาง 160 กิโลเมตร อันจะทำให้สามารถเดินทางจากทวายถึงกรุงเทพฯ ภายในเวลา 4 ชั่วโมง และท่าเรือน้ำลึกทวายก็จะเป็นสะพานเชื่อมโยงเอเชียอาคเนย์กับตะวันออกกลาง ยุโรป และอาฟริกา ทำให้ร่นระยะทางเดินเรือจากการที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกาลงไปอย่างมาก รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอนุภาคแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region : GMS) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้
ถ้าจะพูดไปแล้ว มะริด ทวาย และตะนาวศรี เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีความสำคัญมาแต่อดีตกาล โดยเฉพาะในด้านการค้า และยุทธศาสตร์ จนกลายเป็นชนวนสงครามระหว่างไทยกับพม่าหลายต่อหลายครั้ง แต่ปัจจุบัน เมื่อโลกเปลี่ยนไป และสถานการณ์ทางการเมืองในพม่าเปลี่ยนไป มะริด ทวาย และตะนาวศรี ก็กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะแต่ไทยและพม่า หากแต่มีความสำคัญต่อเอเชียอาคเนย์ และประชาคมโลก โดยรวม
การคิดอะไรให้ไกลจากตัวเอง จากอดีต จากความขัดแย้ง และให้กว้างกว่าความเชื่อ ทิฎฐิมานะ และอคติย่อมยังประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นทั้งนั้นแหละครับ
.....................................