เมื่อพูดถึง พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันคงไม่รู้จักอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้ ดังนั้นผมจึงขอเล่าเรื่องราวของท่านให้ฟังกัน พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของไทย เป็นคนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีนามสกุลเดิมว่าธารีสวัสดิ์ สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายเรือ และศึกษาวิชากฎหมายจนได้เป็นเนติบัณฑิต หลวงธำรงฯ ได้ร่วมอยู่ในคณะราษฎร สายทหารเรือ ซึ่งมี หลวงสินธุสงครามชัย เป็นหัวหน้า เช่นเดียวกับ หลวงศุภชลาศัย หลวงนาวาวิจิตร หลวงนิเทศกลกิจ หลวงสังวรยุทธกิจ และนายทหารเรือคนอื่น ๆ รวม18 นาย ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลวงธำรงฯ ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน ประเภท 2 ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกในรัฐบาลของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ใน พ.ศ.2476 พร้อมทั้งทำหน้าที่เลขานุการคณะรัฐมนตรีด้วย ในปี พ.ศ.2477 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชบัลลังก์ ก็ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลให้เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปกราบบังคมทูลเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ให้เสด็จครองราชย์สืบแทน นอกจากนี้ ใน พ.ศ.2478 ยังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ต่อมาใน พ.ศ.2481สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และร่วมอยู่ในคณะรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม จนท่านจอมพลลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ.2487
พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้รับฉายาว่า “รัฐมนตรีลิ้นทอง” เนื่องจากเป็นคนมีวาทศิลป์ดี ทั้งในการพูด และการอภิปรายในสภา ที่เฉียบคม จับประเด็นเก่ง และสามารถหาเหตุผลมาหักล้างคำพูดของฝ่ายตรงข้ามได้ เช่นครั้งหนึ่ง เมื่อญี่ปุ่นขอให้รัฐบาลไทยเกณฑ์ชายไทยไปเป็นทหารเข้าร่วมในกองทัพญี่ปุ่น พล.ร.ต.ถวัลย์ฯ ได้ปฏิเสธอย่างนุ่มนวลว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะต้องใช้แรงงานชายไทยในการทำไร่ไถนา เว้นแต่ญี่ปุ่นจะหาคนมาทำงานในไร่นาแทนได้ ทำให้ญี่ปุ่นล้มเลิกข้อเรียกร้องดังกล่าว
เมื่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2489 พล.ร.ต.ถวัลย์ฯ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม หลังจากที่ ดร.ปรีดี ลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 21 สิงหาคม ปีเดียวกัน สภาผู้แทนได้มีมติให้ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แทน ระยะนั้นเป็นช่วงเวลาที่สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งยุติลง ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์อย่างหนัก ทั้งด้านการเมืองระหว่างประเทศที่ไทยเข้าร่วมเป็นมหามิตรกับญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ตกอยู่ในฐานะของประเทศผู้แพ้สงครามโดยปริยาย จึงต้องมีการเจรจากับสัมพันธมิตรเพื่อหาทางให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากภาวะดังกล่าว นอกจากนี้ภายในประเทศเองก็ประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง ทั้งการว่างงาน ค่าครองชีพสูง เงินเฟ้ออย่างหนัก และขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค แม้กระทั่งข้าวสาร
รัฐบาลของ พล.ร.ต.ถวัลย์ฯ ได้ดำเนินการให้ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และเจรจาต่อรองกับฝรั่งเศสและอังกฤษเพื่อผ่อนปรนข้อเรียกร้องต่าง ๆ รวมทั้งการแก้ปัญหาเรื่องการส่งข้าวแก่สหประชาชาติ อังกฤษ และสหรัฐฯตามความตกลงที่มีอยู่ โดยรัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.ห้ามกักกันข้าว และหาทางจูงใจให้พ่อค้าขายข้าวแก่รัฐบาล
ในส่วนของปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ พล.ร.ต.ถวัลย์ฯ ได้ตั้งองค์การสรรพาหาร เพื่อซื้อสินค้าซึ่งในเวลานั้นมีราคาแพง มาจำหน่ายแก่ประชาชนในราคาถูก เพื่อตรึงราคาสินค้า และเรียกเก็บธนบัตรซึ่งสัมพันธมิตรนำมาใช้ในประเทศไทย โดยให้ประชาชนนำมาแลกกับธนบัตรที่รัฐบาลจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ รวมทั้งการนำทองคำสำรองของประเทศออกมาจำหน่าย ทำให้ปัญหาต่าง ๆ บรรเทาเบาบางลง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงลงได้ในทันทีทันใด พร้อมกันนั้นก็มีเสียงกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รู้เห็นเป็นใจในการส่งข้าวชนิดดีไปต่างประเทศ และให้คนไทยกินข้าวหัก ๆ ที่ใช้เลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการสั่งรถยนต์บูอิค ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเข้ามาใช้ ในเวลาที่ประเทศกำลังอดอยากขาดแคลนรวมทั้งกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ที่รัฐบาลยังไม่สามารถชี้แจงให้เกิดความกระจ่างได้ทำให้ฝ่ายค้านซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคฯ เป็นแกนนำได้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ติดต่อกันเป็นเวลา 8 วัน 8 คืน ตั้งแต่วันที่ 19-27 พฤษภาคม 2490 และมีการถ่ายทอดการอภิปรายออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง ให้ประชาชนรับฟังเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
แม้ว่ารัฐบาลซึ่งประกอบด้วยพรรคแนวรัฐธรรมนูญของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กับพรรคสหชีพ ซึ่งมีนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรค จะมีชัยในการอภิปราย แต่ประชาชนที่ได้รับฟังการอภิปรายซึ่งถ่ายทอดออกอากาศตลอด 8 วัน 8 คืน ก็ค่อนข้างคล้อยตามคำพูดของฝ่ายค้าน ทำให้เกิดกระแสกดดันทางการเมืองอย่างรุนแรง พล.ร.ต.ถวัลย์ฯ จึงแสดงมารยาททางการเมืองด้วยการตัดสินใจลาออกจากกการเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2490 แต่สภาผู้แทนก็มีมติให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2490 แต่ครั้งนี้ สถานการณ์ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจรวมทั้งพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของนักการเมือง หนักหนายิ่งขึ้น
คืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ขณะที่ พล.ร.ต.ถวัลย์ ไปร่วมงานลีลาศที่เวทีลีลาศสวนอัมพร กลุ่มนายทหาร ที่นำโดยนายทหารนอกราชการ คือ จอมพลผิน ชุณหะวัน ร่วมด้วย พ.อ.กาจ กาจสงคราม, พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์, พ.อ.เผ่า ศรียานนท์, พ.ท.ถนอมกิตติขจร, พ.ท.ประภาส จารุเสถียร และ ร.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน ได้นำกำลังทหารก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจาก พล.ร.ต.ถวัลย์ฯ และเชิญนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี