ถ้าจะกล่าวว่าฝรั่งเศสเป็นมิตรประเทศเก่าแก่ของไทยก็คงไม่ผิดนัก เพราะในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส และมีผลประโยชน์แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เนื่องจากไทยต้องการสร้างดุลถ่วงแห่งอำนาจกับจักรวรรดินิยมตะวันตกเช่นดัชท์ และสเปน ที่กำลังแผ่อิทธิพลเข้ามาในเอเชีย ขณะที่ฝรั่งเศสเองก็เป็นคู่กัดกับอังกฤษทั้งในอเมริกาเหนือและอัฟริกา แต่เข้ามาในเอเชียช้ากว่าอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสขาดช่วงลงในช่วงราชวงศ์บ้านพลูหลวงซึ่งขึ้นมามีอำนาจต่อจากสมเด็จพระนารายณ์ฯ จนถึงสิ้นกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ฝรั่งเศสสบโอกาสที่จะเข้ามาสู่เอเชีย เมื่อเวียดนามเกิดการกบฏภายในประเทศ แม้ในชั้นแรกเวียดนามจะหวังพึ่งไทย แต่ไทยก็ไม่อาจให้ความช่วยเหลือได้เต็มที่ ทำให้กษัตริย์เวียดนามต้องหันไปพึ่งฝรั่งเศส จนสามารถปราบปรามพวกกบฏได้สำเร็จ แต่อิทธิพลของฝรั่งเศสโดยเฉพาะอิทธิพลของคริสตจักรก็สูงขึ้นอย่างมาก จนในที่สุดเวียดนามก็ปิดประเทศเพื่อขจัดอิทธิพลต่างด้าว ซึ่งนำไปสู่การรบระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดนาม จนฝรั่งเศสสามารถครอบครองเวียดนามทั้งประเทศ ใน พ.ศ.2426 และแผ่อำนาจเข้าไปในกัมพูชาและลาว ซึ่งฝรั่งเศสอ้างว่าประเทศทั้งสองเป็นประเทศราชของเวียดนามเพราะได้ถวายเครื่องราชบรรณาการแด่กษัตริย์เวียดนามมาแต่เดิม แต่ขณะนั้นทั้งกัมพูชาและลาวก็อยู่ในความปกครองของไทย ดังนั้น ฝรั่งเศสจึงหาทางให้กัมพูชาและลาวแยกตัวจากไทยด้วยวิธีการต่าง ๆ
การทูตเรือปืน ก็เป็นวิธีหนึ่งซึ่งฝรั่งเศสนำมาใช้กับไทย เพื่อบีบบังคับไทยในเรื่องดินแดนกัมพูชาและลาวโดยในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2436 ฝรั่งเศสอาศัยกรณีความขัดแย้งที่แขวงคำม่วน ส่งเรือแองคองสตัง และเรือปืนโกแมต เดินทางมาถึงปากน้ำ และขออนุญาตแล่นผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าไปสมทบกับเรือลูแตงซึ่งทอดสมออยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสที่บางรัก เพื่อเจรจาต่อรองกับรัฐบาลไทย เมื่อได้รับการปฏิเสธ ผู้บังคับการฝรั่งเศสก็นำเรือผ่านเข้ามาโดยพละการ จึงเกิดการยิงต่อสู้จากปืนใหญ่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า และเรือปืนของไทยอีก 5 ลำ ที่คุมเชิงอยู่ แต่เนื่องจากเป็นเวลาพลบค่ำและภูมิอากาศครึ้มฝน ทำให้การป้องกันขาดประสิทธิภาพ หลังการยิงต่อสู้กันประมาณ 25 นาที เรือฝรั่งเศสก็เข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ ผลของการต่อสู้ ทหารฝรั่งเศสเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 2 นาย เรือโกแมตถูกยิงเสียหาย เรือกลไฟนำร่องถูกยิงเกยตื้น ฝ่ายไทยเสียชีวิต 10 นาย บาดเจ็บ 12 นาย หลังจากนั้น ได้มีการสู้รบระหว่างเรือฝรั่งเศสที่ถูกส่งมากู้เรือนำร่อง จนเรือฝรั่งเศสลำนั้นต้องล่าถอยกลับไป แต่ที่กรุงเทพฯ ทหารฝรั่งเศสได้ตั้งมั่น เรือรบฝรั่งเศสได้หันปากกระบอกปืนเรือไปทางพระบรมมหาราชวัง จนถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2436 ทั้งสองฝ่ายจึงสามารถลงนามในความตกลงได้ โดยมีประเด็นสำคัญของความตกลงว่า
1.ประเทศไทยต้องจ่ายค่าเสียหายแก่ฝรั่งเศส จำนวน 2 ล้านฟรังค์ กับอีก 3 ล้านบาท
2.ไทยต้องยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงซึ่งก็คือประเทศลาวในปัจจุบัน รวมทั้งเกาะแก่งในแม่น้ำโขง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 143,000 ตร.กม. ให้ฝรั่งเศส
3.ไทยต้องดำเนินคดีกับพระยอดเมืองขวาง เจ้าเมืองคำม่วน โดยมีผู้พิพากษาฝรั่งเศสร่วมพิจารณาคดีด้วย
4.ฝรั่งเศสจะยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน เป็นเวลา 10 ปี
ครับ นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 119 ปีที่แล้ว ซึ่งคนไทยรุ่นหลังอาจจะลืมเลือนไปแล้ว และอาจจะหลงลืมกฎธรรมดาของโลกไปด้วยว่า บางครั้งบางคราวคน ๆ เดียวกัน หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็อาจเป็นได้ทั้งมิตรแท้และศตรูที่ไร้เทียมทาน
สำหรับแฟน ๆ รายการ “โลกและชีวิต กับประภัสสร เสวิกุล” ทางวิทยุศึกษา เอฟเอ็ม.92 เวลา 21.00-22.00 น. ในวันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม นี้ ผมจะพาไปประเทศอาร์เจนตินา และพบกับเรื่องราวที่น่าสนใจของ เอวิต้า เปรอง, เช เกวารา และมาราดอนนา พร้อมด้วยเพลงไพเราะเช่นเคยครับ
.....................................