เล่าสู่กันฟัง 14
ราชันสองโลก (2)
เออเนสโต เกวารา เด ลา เซนา ( Ernesta Guevara de la Serna) เกิดที่โรซาริโอ
ในอาร์เจนตินา เมื่อ 14 มิถุนายน ค.ศ.1928 บิดาเป็นลูกครึ่งไอริช-สแปนนิช มารดากำพร้าทั้งพ่อและแม่ตั้งแต่เล็ก จึงอยู่ในความดูแลของป้าซึ่งเคร่งศาสนา และพี่สาวที่แต่งงานกับกวีที่นิยมคอมมิวนิสต์ ครอบครัวของเกวารามีแนวคิดทางเสรีนิยม และต่อต้านนาซี ต่อต้านประธานาธิบดีเปรอง และไม่เคร่งศาสนา แถมยังนิยมชีวิตที่สะดวกสบาย ซึ่งทำให้เขาพลอยปฏิเสธทั้งระบอบทุนนิยม และคอมมิวนิสต์นิยมในแนวทางของโซเวียตไปด้วย ในวัยหนุ่มเกวาราชื่นชอบงานของฌอง ปอล ซาร์ต, พาโบล เนรูด้า, ซิโร อาเลเกรีย และคาร์ล มาร์ซ เป็นพิเศษ จนถึงกับเคยคิดที่จะเขียนชีวประวัติของมาร์ซ
เกวาราเข้าศึกษาในคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยบัวโนส ไอเรส ช่วงนี้เขาสนใจทั้งสตาลินและมุสโซลินี แต่ก็ไม่ได้เข้าร่วมขบวนการทางการเมืองของนักศึกษาแต่ในปี 1951 ด้วยคำแนะนำของอัลแบร์โต กรานาโด (Alberto Granado) เพื่อนนักศึกษาหัวรุนแรง เกวาราจึงลาพักการเรียนไว้ 1 ปี เพื่อท่องเที่ยวไปตามประเทศต่าง ๆ ในอเมริกาใต้ด้วยรถมอเตอร์ไซลฺค์ นอร์ตัน 500 เก่า ๆ ซึ่งมีชื่อที่เรียกกันเล่น ๆ ว่า la Poderosa หรือ the mighty one เพื่อเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ถึงชีวิตและสภาพการณ์ที่แท้จริงของชาวลาตินอเมริกันและชนพื้นเมืองในดินแดนเหล่านั้น ซึ่งมีความเป็นอยู่ที่ยากจนและแร้นแค้น จากการเดินทางในครั้งนั้นเขาได้เขียนบันทึกการเดินทางเล่มหนึ่ง คือ The Motorcycle Diaries และเริ่มแสดงแนวคิดวิพากษ์การครอบงำทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต่อประเทเศต่าง ๆ ในอเมริกาใต้ เกวารากลับมาเรียนต่อจนสำเร็จในปี 1953 และเดินทางท่องไปในอาร์เจนตินาและอเมริกาใต้อีกครั้ง
และในปี 1953 นั้นเองที่เกวาราได้เดินทางไปยังกัวเตมาลา ซึ่งขณะนั้นจาโคโบ อาร์เบรนซ์(Jacobo Abrenz) ผู้นำฝ่ายซ้าย ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และดำเนินการปฏิรูปประเทศหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการปฏิรูปที่ดิน เพื่อนำไปสู่การปฎิวัติทางสังคม แต่แล้วในปี 1954 CIA ได้เข้าแทรกแซงเพื่อสนับสนุนให้มีการโค่นล้มรัฐบาลของจาโคโบ อาร์เบรนซ์ เกวาราได้อาสาที่จะต่อสู้กับฝ่ายรัฐประหาร แต่อาร์เบรนซ์รู้ดีว่าไม่มีทางจะสู้ได้จึงขอให้พวกต่อต้านทั้งหลายรีบหลบหนีออกนอกประเทศ เกวาราเองได้ซ่อนตัวอยู่ในสถานกงสุลอาร์เจนตินาจนปลอดภัย จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เกวาราปักใจเชื่อว่าหนทางเดียวที่จะต่อต้านการรุกรานของสหรัฐฯ ได้ ก็คือการปฏิวัติอย่างถอนรากถอนโคน จนถึงกับเคยสาบานต่อหน้ารูปถ่ายของสตาลินว่า เขาจะไม่ยอมยุติการต่อสู้ จนกว่าจะกำจัดพวกทุนนิยมให้สิ้นซาก
อย่างไรก็ตามช่วงที่อยู่ที่กัวเตมาลา เกวาราได้พบกับฮิลด้า กาเดีย (Hilda Gadea) หญิงสาวชาวเปรูและแต่งงานกันในปี 1955 ทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกัน 1 คน และที่กัวเตมาลานี่เองที่ทำให้เขาได้สมญาว่า เช (Che) ซึ่งมาจากคำว่า Hey ในภาษาสแลงของชาวอาร์เจนตินา
เกวาราเดินทางไปเม๊กซิโกในปี 1956 ที่นั่นเขาได้เพื่อนใหม่ชาวคิวบาซึ่งมีแนวคิดคล้ายกันคือฟิเดล คาสโตร และราอูล น้องชาย พี่น้องคาสโตรคู่นี้กำลังรวบรวมคนเพื่อต่อต้านนายพลฟูลเกนซิโอ บาติสต้า (Fulgencio Batista) ซึ่งปกครองคิวบาด้วยระบอบเผด็จการ หลังการโค่นล่มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในปี 1952 เกวาราโดดเข้าร่วมมือด้วยทันทีกับขบวนการใต้ดินนี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า ขบวนการ 26 มิถุนาฯ
ในปลายปี 1956 พลพรรคใต้ดินจำนวน 80 คน โดยมีเกวาราเป็นเพียงคนเดียวในกลุ่มที่ไม่ใช่ชาวคิวบาได้ลงเรือยนต์จากเม๊กซิโกไปขึ้นบกที่ชายฝั่งคิวบาบริเวณเขตอิทธิพลของกองกำลังปฏิวัติ และแม้จะต้องผจญกับอาการป่วยด้วยโรคหืดหอบแต่เกวาราก็มีความสุขกับการทำสงครามกองโจร ซึ่งใช้นโยบายปฏิรูปที่ดินเป็นตัวปลุกกระแสการสนับสนุนจากประชาชนในชนบท ความเอาจริงเอาจัง เด็ดเดี่ยว และยึดมั่นในแนวคิดของตนเอง ทำให้เกวาราได้รับการยอมรับจากมวลสมาชิกอย่างรวดเร็ว
ในปี 1958 เกวาราได้พบรักอีกครั้งกับอลิดา มาร์ช (Aleida March) นักปฏิวัติสาวที่ร่วมรบด้วยกัน เกวารายังคงเขียนบันทึกและบทความอยู่ตลอดเวลา ผลงานของเขาได้รับการลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของฝ่ายปฏิวัติ และได้คัดสรรรวมพิมพ์เป็นเล่มในปี 1963 ในชื่อ การเดินทางแห่งสงครามปฏิวัติ (Pasajes de la Guerra Revolucionaria)
เกวาราต่อสู้อย่างเข้มแข็งจนได้รับการเลื่อนยศเป็นพันเอก (Comandante) และเมื่อกองทัพปฏิวัติมีชัยชนะในปี 1959 เขาก็ได้ร่วมอยู่ในคณะรัฐบาลของคาสโตร และมีบทบาทสำคัญในการสร้างชาติและกำหนดนโยบายทางสังคม เกวารามีความเห็นว่า การสร้างลัทธิคอมมิวนิสต์ จะต้องสร้างคนรุ่นใหม่ไปพร้อม ๆ กับกับการสร้างฐานทางเศรษฐกิจ และพื้นฐานของการปฏิวัติก็คือ ความสุขของประชาชน เช่นเดียวกับ การปฎิวัติที่แท้จริงต้องนำพาด้วยความรักอันยิ่งใหญ่
หลังจากนั้นไม่นาน เกวาราได้รับสัญชาติคิวบา และใช้ชื่อ เช อย่างเป็นทางการ เกวาราหย่าจากกาเดียมาแต่งงานกับอลิดา มาร์ช และมีบุตรด้วยกัน 4 คน เขาได้เป็นประธานธนาคารชาติคิวบา รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งพยายามผลักดันให้คิวบาเป็นประเทศสังคมนิยมอุตสาหกรรม และโจมตีนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศโลกที่สามอย่างรุนแรงเสมอ เกวาราได้เสนอให้โซเวียตติดตั้งขีปนาวุธในคิวบาเพื่อป้องกันคิวบาจากการโจมตีของสหรัฐฯ จนเกือบก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ซึ่งเกวาราเคยให้สัมภาษณ์ว่าถ้าในตอนนั้นคิวบามีขีปนาวุธอยู่ในมือ เขาก็คงจะถล่มสหรัฐฯ ไปแล้ว
เกวารามีความเชื่อในแนวทางการปฏิวัติแบบกองโจร โดยไม่จำเป็นต้องสร้างองค์กรขนาดใหญ่ ในปี 1964 เขาได้ขอให้คาสโตรส่งเขาไปอัฟริกาพร้อมกับ ที่ปรึกษา ชาวคิวบา เพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของลุมมุมบา (Lummunba) ในสงครามคองโก แต่ได้ล้มป่วยลงจนในที่สุดต้องเดินทางกลับคิวบา
ภายหลังการไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน อียิปต์ และอัฟริกาในปี 1965เกวาราได้หายหน้าไปจากสาธารณชน แม้ว่าเขาจะทรงอำนาจเป็นอันดับสองในคิวบารองจากคาสโตร แต่ความชื่นชมจีนและการเริ่มตีตัวออกห่างจากโซเวียตของเกวาราได้สร้างปัญหาให้แก่คิวบา และความอึดอัดใจให้แก่คาสโตรไม่น้อย และว่ากันว่าคาสโตรเป็นผู้ขอให้เกวาราเก็บตัว ท่ามกลางข่าวลือต่าง ๆ นานา ทั้งในและนอกคิวบา
ในวันที่ 3 ตุลาคม 1965 คาสโตรได้เปิดเผยจดหมายของเกวาราที่ขอลาออกจากทุกตำแหน่งในรัฐบาล ในพรรค และกองทัพ รวมทั้งการเป็นพลเมืองของคิวบา เพื่อเดินทางออกจากคิวบาไปต่อสู้ตามแนวทางปฏิวัติของตนในต่างแดน แม้จะไม่มีการยืนยันว่าเกวาราไปอยู่ที่ไหน แต่ก็เชื่อกันว่าเขาคงดำเนินการปฏิวัติอยู่ที่ใดที่หนึ่งในลาตินอเมริกา
เกวาราร่วมกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ชาวคิวบาและพลพรรคคอมมิวนิสต์โบลิเวียได้ก่อตั้งหน่วยกองโจรขึ้นในป่าแถบนานคาฮาซู (Nancahazu) ในโบลิเวีย โดยมีกำลังพลเพียงแค่ 120 คน ขณะเดียวกันประธานาธิบดีเรเน บาริเอนโตส (Rene Barrientos)แห่งโบลิเวีย ก็ได้ประกาศความต้องการที่อยากจะเห็นศีรษะของเกวาราถูกนำมาเสียบประจานไว้ที่กลางกรุงลาปาซ พร้อมกับส่งกองทหารที่ได้ผ่านการฝึกมาแล้วจากหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ ออกล่าเกวาราอย่างเอาเป็นเอาตาย นอกจากนี้ ทางสหรัฐฯเองก็ยื่นมือเข้ามาให้ความสนับสนุน โดยส่งเจ้าหน้าที่จาก CIA เดินทางมาช่วยร่วมแกะรอยเกวาราด้วย ซึ่งในช่วงนั้นเกวาราต้องต่อสู้ตามลำพังโดยไม่ได้รับการสนับสนุนใด ๆจากพรรคคอมมิวนิสต์โบลิเวียซึ่งนิยมโซเวียตเลย
ในวันที่ 8 ตุลาคม 1967 เกวาราถูกจับกุมที่ลา อิเกรา (La Higuera) ภายหลังได้รับบาดเจ็บที่ขา และกระสุนปืนที่เหลืออยู่หมดลง ทหารที่อยู่ในที่เกิดเหตุเล่าว่าเกวาราได้ร้องบอกว่า อย่ายิง ข้าคือเช เกวารา พวกแกจะได้ประโยชน์จากการจับเป็นข้ามากกว่าจับตาย เมื่อรู้ว่าได้ตัวเกวาราแล้ว บาริเอนเตสก็ออกคำสั่งให้ประหารชีวิตทันที ว่ากันว่านายสิบที่ต้องทำหน้าที่เพชฌฆาตถึงกับตกอยู่ในอาการประสาท และไม่กล้าที่จะมองดูหน้าเกวราขณะที่ยิงเขาที่ลำตัวและคอ จนเกวาราต้องเปล่งประโยคสุดท้ายว่า ข้ารู้ว่าแกจะมาฆ่าข้า เอาซิ ไอ้ขี้ขลาด ยิงเลยซิ แกก็แค่ฆ่าคน ๆ หนึ่งเท่านั้น
วันที่ 15 ตุลาคม คาสโตรแถลงข่าวการเสียชีวิตของเกวารา และประกาศให้หยุดงานทั่วประเทศคิวบาเป็นเวลา 3 วัน เพื่อไว้อาลัยให้กับเขา
แม้ว่า เช เกวารา จะจากโลกนี้ไปเป็นเวลา 30 ปีแล้ว แต่เรื่องราวของเขายังคงเป็นตำนานที่เล่าขานไม่มีวันลืมเลือน และภาพถ่ายของเขาก็ยังปรากฏให้เห็นอย่างแพร่หลายทั่วทุกมุมโลก
ประภัสสร เสวิกุล
ซันติอาโก ชิลี, 17 กันยายน 2550